หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

อองซาน ซูจี วีรสตรีเพื่ออิสรภาพของประเทศพม่า

อองซาน ซูจี วีรสตรีเพื่ออิสรภาพของประเทศพม่า

นามของ อองซาน ซูจี (aung san suji) ปรากฏในความรับรู้ของประชาคมโลกหลังเกิดเหตุการณ์ ๘-๘-๘๘ ในประเทศพม่า เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ (ค.ศ. ๑๙๘๘) ที่นักศึกษาประชาชนพม่าหลายแสนคนลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย จากรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครอง ประเทศพม่ามายาวนานถึง ๒๖ ปี
อุบัติการณ์ทางการเมืองในประเทศพม่าครั้งนั้น ทำให้ นาง อองซาน ซูจี บุตรสาวของ นายพลอองซาน วีรบุรุษเพื่อเอกภาพ และเอกราช ของประเทศพม่า เลือกเดินซ้ำรอยบิดา บนถนนการเมือง เธอทิ้งอนาคตทางวิชาการ และ ครอบครัวอันอบอุ่นไว้เบื้องหลัง เพื่ออุทิศตนให้แก่การต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตย และสันติภาพ ในแผ่นดินเกิด ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหาร และข้อกังขานานาประการของสาธารณชน ต่อบทบาท และความรับผิดชอบของเธอในฐานะภรรยาและมารดา
อองซาน ซูจี กลับบ้านเกิด และร่วมต่อสู้เรียกร้องสันติภาพ และประชาธิปไตย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เธอไม่ได้ก้าวเท้าออกจากพม่าอีกเลยนับแต่นั้น เพราะตระหนักดีว่า หากเธอเดินทางออกไป เธอจะไม่มีวันได้ย่างเหยียบกลับสู่แผ่นดินเกิดอีกตราบที่กลุ่มเผด็จการ ทหารพม่ายังครองอำนาจปกครองแผ่นดินนี้อยู่ ซูจีเลือกที่จะสละอิสรภาพของตัวเอง เพื่อกู่ก้อง ให้ประชาคมโลกรู้ถึงความทุกข์ยาก และชะตากรรมของเพื่อน ร่วมชาติภายใต้การปกครอง ของระบอบเผด็จการทหารพม่า


อองซาน ซูจี อายุ ๒ ขวบ ตอนที่บิดา คือ นายพลอองซาน ที่ชาวพม่ายกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษเพื่ออิสรภาพของประเทศพม่า” ถูกลอบสังหารเมื่อ วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ บทบาทของนายพลอองซานในการนำการต่อสู้กับญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรที่เข้ามายึดครองพม่า ทำให้สหภาพพม่าได้รับอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชเมื่อ วันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑
เมื่อ นายพลอองซานถูกลอบสังหาร ดอว์ขิ่นจี ภรรยา ต้องรับภาระเลี้ยงดูบุตรชายหญิง ๓ คนโดยลำพัง ซูจีเป็นลูก คนเล็ก และเป็นบุตรสาวคนเดียวของครอบครัว ภายหลังบิดาเสียชีวิตไม่นาน พี่ชายคนรองของเธอประสบอุบัติเหตุ จมน้ำตายในบริเวณบ้านพัก ซูจีและพี่ชายคนโตคือ อองซาน อู เติบโตมากับการเลี้ยงดูของมารดา ที่เข้มแข็ง และความเอื้อเอ็นดูของกัลยาณมิตรร่วมอุดมการณ์ของบิดา
พ.ศ. ๒๕๐๓ ดอว์ขิ่นจี ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทูตพม่า ประจำประเทศอินเดีย ซูจีถูกส่ง เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยม และ Lady Shri Ram College ที่นิวเดลี จากนั้นไปเรียนต่อระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ การเมือง และปรัชญา ที่ St.Hugh’ s College, Oxford University ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๑๐ ช่วงที่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซูจีได้พบรักกับ ไมเคิล อริส นักศึกษาสาขาวิชาอารยธรรมทิเบต
ปีเดียวกันกับที่ซูจีจบการศึกษา ดอว์ขิ่นจี หมดวาระในตำแหน่งทูตประจำประเทศอินเดีย และย้ายกลับไปพำนัก ที่ย่างกุ้ง ซูจี แยกจากมารดาเพื่อเดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการ ให้ คณะกรรมการที่ปรึกษา ด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณ และการจัดการของสำนักงานเลขาธิการ องค์การสหประชาชาติ ขณะนั้น อูถั่น ซึ่งเป็นชาวพม่า ดำรงตำแหน่งเลขาธิการของ องค์การสหประชาชาติ ระหว่าง ๓ ปีของการทำงานที่นี่ ซูจีใช้เวลาช่วงเย็น และวันหยุดสุดสัปดาห์เป็น อาสาสมัครให้โรงพยาบาล ในโครงการช่วยอ่านหนังสือ และดูแลปลอบใจผู้ป่วยยากจน


เดือนมกราคม ๒๕๑๕ ซูจีแต่งงานกับ ไมเคิล อริส และย้ายไปอยู่กับสามี ที่ราชอาณาจักรภูฐาน ซูจีได้งาน เป็นนักวิจัยในกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลภูฏาน ขณะที่ไมเคิลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้า กรมการแปล รวมทั้งมีหน้าที่ถวายการสอน แก่สมาชิกราชวงศ์แห่งภูฏาน
พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๒๐ ทั้งสองย้ายกลับมาที่กรุงลอนดอน ไมเคิลได้งานสอนวิชาหิมาลัย และทิเบตศึกษา ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซูจีให้กำเนิดบุตรชายคนแรก อเล็กซานเดอร์ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ และบุตรชายคนเล็ก คิม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ นอกจากใช้เวลากับการเลี้ยงดูบุตรชายทั้งสองแล้ว ซูจีเริ่มทำงานเขียน และงานวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติของบิดา และยังช่วยงานหิมาลัยศึกษาของ ไมเคิลด้วย
พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๒๙ ซูจี และไมเคิลตัดสินใจแยกจากกัน ระยะหนึ่ง เพื่อแสวงหาความก้าวหน้า ทางวิชาการ ซูจีได้รับทุนทำวิจัยจาก ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ในการทำวิจัย เกี่ยวกับบทบาทของนายพลอองซาน ขณะที่ไมเคิลได้รับทุนจาก Indian Institute of Advanced Studies ที่ซิมลา (Simla) ทางภาคตะวันออกของอินเดีย ซูจีพาคิม บุตรชายคนเล็ก ไปญี่ปุ่นด้วย ส่วนไมเคิลพา อเล็กซานเดอร์ บุตรชายคนโตไปอยู่ด้วยที่อินเดีย ปีต่อมาซูจีได้รับทุนจาก Indian Institute of Advanced Studies จึงพาคิมมาสมทบที่ซิมลา ช่วงนี้ซูจีต้องบินกลับไปลอนดอนเพื่อดูแล มารดาที่เดินทางมารับการผ่าตัดต้อกระจกตา
พ.ศ. ๒๕๓๐ ซูจีและไมเคิลย้ายครอบครัวกลับมาอยู่ที่ออกซฟอร์ด ซูจีเข้าศึกษาต่อที่ London School of Oriental and African Studies ที่กรุงลอนดอน เธอกำลังทำวิทยานิพนธ์ ปริญญาเอกเกี่ยวกับวรรณคดีพม่า ก่อนที่โชคชะตาจะพลิกผันชีวิตไปสู่เส้นทางการเมือง จนกลายเป็นตำนานก้องโลก
กลับบ้านเกิดสานอุดมการณ์และความฝันของบิดา
ปลายเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ อองซาน ซูจี ในวัย ๔๓ ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่ย่างกุ้ง เพื่อมาพยาบาล ดอว์ขิ่นจี มารดาที่กำลังป่วยหนัก แม้เธอจะมี โครงการอยู่ในใจที่จะทำโครงการเครือข่าย ห้องสมุดอองซาน ในระหว่างที่อยู่พยาบาล แต่เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และมีความวุ่นวายทางการเมืองในพม่า กดดันให้ นายพล เนวิน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรค โครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP) ที่ยึดอำนาจการปกครองประเทศพม่ามานานถึง ๒๖ ปี ความพลิกผันทั้งโครงการและชีวิตของเธอจึงเริ่มขึ้น



ความไม่พอใจของประชาชนต่อระบอบเนวิน โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นั้นสะสมต่อเนื่อง และรุนแรงมากขึ้นเมื่อมีการประกาศยกเลิกการใช้ธนบัตรมูลค่า ๒๕ จั๊ด ๓๕ จั๊ด และ ๗๕ จั๊ด โดยไม่ยอมให้ มีการแลกคืน ในเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งทำให้เงินร้อยละ ๗๕ หายไปจากตลาดเงิน นักศึกษามหาวิทยาลัย ย่างกุ้งประท้วงด้วยการ ทำลายร้านค้าหลายแห่ง
เหตุการณ์รุนแรงครั้งสำคัญปะทุขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ หลังเกิดเหตุทะเลาะ วิวาทระหว่างนักศึกษาในร้านน้ำชา และตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุ กลุ่มนักศึกษาได้รวมตัวกันประท้วง ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่ตำรวจกลับใช้ความรุนแรง ตอบโต้ด้วยการยิงใส่กลุ่มผู้ประท้วง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งยังจับกุม นักศึกษานับพันคนไปจากการชุมนุม การใช้ความรุนแรง ดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่พอใจ ในหมู่นักศึกษาประชาชน และขยายไปทั่วประเทศ มีการประท้วงในพื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก จนเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่กดดันให้นายพลเนวิน ต้องประกาศลาออก
การลาออกของนายพลเนวินใน วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ตามมาด้วยการชุมนุม เรียกร้องประชาธิปไตย ของนักศึกษา และประชาชนหลายแสนคนในเมืองหลวงย่างกุ้ง และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ในวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นเหตุการณ์ ที่พลิกผันชีวิตของประชาชนพม่านับล้าน รวมทั้งเส้นทางชีวิตของนางอองซาน ซูจี บุตรสาวคนเดียวของนายพลอองซาน ที่ชาวพม่ายกย่องให้เป็นวีรบุรุษของการต่อสู้เรียกร้อง อิสรภาพของประเทศพม่าระยะเวลาหลายสิบปีในการต่อสู้เรียกร้องสันติภาพและประชาธิปไตยให้แผ่นดินเกิดนั้น ซูจีแลกอิสรภาพของตนเองกับการเรียกร้องให้ประชาคมโลกสนใจต่อความทุกข์ยากของประชาชนพม่าภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร การต่อสู้แบบสันติวิธี ของเธอกลายเป็น หนามแหลมทิ่มแทงภาพลักษณ์ของระบอบ เผด็จการทหารพม่า รวมทั้งรัฐบาลในโลกเสรี ที่ให้ความสนับสนุนต่อรัฐบาลทหารพม่า



ซูจี เดินหน้าอย่างสงบเข้าหาปากกระบอกปืนที่ฝ่ายทหารขึ้นไกปืนเตรียมพร้อม เล็งมาที่เธอ เพื่อบังคับให้เธอ หยุดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งออง ซาน ซูจี ปฏิเสธที่จะเดินทาง ออกนอกประเทศ ตามข้อเสนอของรัฐบาลทหาร แต่เลือกที่จะอยู่เป็นกำลังใจ และเป็นสัญลักษณ์ที่ปลุกเร้าความกล้าหาญ ของประชาชนพม่าในการต่อสู้เรียกร้อง ประชาธิปไตยในประเทศ แม้ว่าจะต้องถูกกักบริเวณให้อยู่แต่ในบ้านพักของเธอเอง ท่ามกลางการกดดันทุกรูปแบบ ของรัฐบาลเผด็จการทหาร ซูจี ยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ให้ประชาชนชาวพม่า
เธอเรียกร้องให้มีการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหาร กับพรรคฝ่ายค้านของเธอ และผู้นำชนชาติกลุ่มน้อยต่าง ๆ เพื่อร่วมกันกำหนดอนาคตของประเทศและประชาชน
บันทึกเรื่องราวของประชาชนพม่าที่มีชีวิตขมขื่น ทุกข์ยาก ภายใต้เงื้อมมือเผด็จการ ซูจีบอกเล่าสถานการณ์ ความเป็นไปในบ้านเกิดให้โลกรู้ผ่านตัวหนังสือ เรียกร้องต่อโลกภายนอก โดยเฉพาะเพื่อนบ้านใกล้ชิด อย่างประเทศไทย ให้เมตตาเอื้ออารีต่อชีวิตของพี่น้อง ร่วมชาติของเธอ ที่ข้ามพรมแดนหนีตายจาก อำนาจเผด็จการมาพึ่งพิงผืนดินไทย
วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ออง ซาน ซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่ง จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ทั่วไปวันที่ ๒๖ สิงหาคม
ซูจี ใน ฐานะธิดาของอดีตผู้นำเรียกร้อง เอกราชของประเทศพม่า ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก ต่อหน้าฝูงชนประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ คน ที่มาชุมนุมกันที่ เจดีย์ชเวดากอง ในย่างกุ้ง ซูจีเรียกร้องให้มี รัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้ง สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ขึ้นแทน และปราบปรามสังหาร และจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน
วันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ ซูจี ร่วมจัดตั้ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อ ประชาธิปไตยขึ้น (National League for Democracy: NLD) และได้รับเลือกให้ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค ชีวิตทางการเมือง ของซูจี เริ่มต้นอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นเป็นต้นมา



แม้รัฐบาลเผด็จการไม่กล้าใช้ความเหี้ยมโหดตอบโต้การดื้อแพ่งของซูจี แต่ได้ใช้อำนาจเผด็จการภายใต้กฎอัยการศึก สั่งกักบริเวณซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็น ครั้งแรก เวลา ๓ ปี ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งต่อมาขยายเป็น ๖ ปีโดยไม่มีข้อหา และได้จับกุม สมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่ คุกอินเส่ง ซึ่งรู้กันว่าเป็นสถานที่ที่ มีการปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณ ต่อนักโทษ ซูจีอดอาหารเพื่อประท้วง และเรียกร้องให้นำเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ เวลานั้นอเล็กซานเดอร์ และคิมอยู่กับมารดาด้วย ไมเคิลบินด่วนจากอังกฤษมาที่ย่างกุ้ง เพื่อเป็นกำลังใจให้ภรรยา ซูจียุติการอดอาหารประท้วงเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารให้สัญญาว่า จะปฏิบัติอย่างดีต่อ สมาชิกพรรคเอ็นแอลดี ที่ถูกคุมขังไว้ที่คุกอินเส่ง
วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๓ แม้ว่าซูจียังคงถูกกักบริเวณอยู่ แต่พรรคเอ็นแอลดี ของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลเผด็จการทหารในนามของ “สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ” ปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะ แต่ยื่นข้อเสนอ ให้ซูจียุติบทบาททางการเมือง ด้วยการเดินทางออกนอกประเทศ ไปใช้ชีวิตครอบครัวกับสามีและบุตร เมื่อซูจีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลทหาร จึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณเธอจาก ๓ ปี เป็น ๕ ปี และเพิ่มอีก ๑ ปีในเวลาต่อมา

วันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ คณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ ประกาศชื่อ นางอองซาน ซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซูจีไม่มีโอกาสเดินทาง ไปรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ด้วยตัวเอง เดือนธันวาคม อเล็กซานเดอร์ และคิมบินไปรับรางวัล แทนมารดาที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ สองพี่น้องเดิน ถือภาพถ่ายของมารดา ขึ้นเวทีท่าม กลางเสียงปรบมือต้อนรับอย่างกึกก้อง
อเล็กซานเดอร์กล่าว กับคณะกรรมการและผู้มาร่วมในพิธีว่า
“ผมรู้ว่า ถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้อง ให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ ให้ทั้งผู้กดขี่ และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ”
ซูจีประกาศใช้เงินรางวัลจำนวน ๑.๓ ล้านเหรียญ จัดตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพและการศึกษา ของประชาชนพม่า ซูจีได้รับอิสรภาพ จากการถูกกักบริเวณครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘
อองซาน ซูจี : หัวใจแกร่ง
กับชีวิตที่ปราศจากความกลัวแม้จะได้รับการปล่อยตัว แต่ซูจี ยังคงถูกติดตาม ความเคลื่อนไหว และไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เธอถูกห้าม ไม่ให้ปราศรัยต่อหน้าฝูงชน ที่มาชุมนุมอยู่หน้าบ้านของเธอเอง ครั้งใดที่เธอพยายามเดินทางออกจากบ้านพัก เพื่อไปพบปะฝูงชน เจ้าหน้าที่รัฐจะติดตามไปทุกแห่งหน พร้อมกับฝูงชนจัดตั้งจำนวนหนึ่ง ที่พยายามทำร้ายเธอ และเพื่อนร่วมคณะ ครั้งหนึ่งฝูงชนเหล่านี้ได้ใช้ก้อนหิน และวัตถุอันตรายอื่นๆ กว้างปาเข้าใส่รถของเธอจนเสียหาย ทั้ง ๆ ที่อยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ซูจี ยังคงดำเนิน การต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี โดยใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทป เพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องของเธอ ต่อรัฐบาลทหารพม่า ออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่สามารถทำได้ เดือน กรกฎาคม ๒๕๔๑ ซูจี นั่งประท้วงอยู่ในรถยนต์ ของเธอเองเป็นเวลาห้าวัน หลังจากถูกตำรวจ สกัดไม่ให้รถยนต์ของเธอเดินทางออกจาก ย่างกุ้งเพื่อไปพบปะกับสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อ ประชาธิปไตย เดือนสิงหาคม ๒๕๔๑ ซูจี ถูกสกัด ไม่ให้เดินทางไปพบปะ สมาชิกพรรคของเธออีกครั้งหนึ่ง ซูจี ใช้ความสงบ เผชิญหน้า กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาถึงหกวัน จนเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมด เธอถูกบังคับพาตัวกลับ ที่พักหลังจากนั้น
วันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๓ ซูจี และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ถูกตำรวจสกัดไม่ ให้เดินทางออกพ้นชานกรุงย่างกุ้ง เพื่อไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซูจี ยืนยันที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ โดยใช้วิธีเผชิญหน้าอย่างสงบกับตำรวจอยู่ ณ จุดที่ถูกสกัดเป็นเวลาถึง ๙ วัน
จนถึงวันที่ ๒ กันยายน ตำรวจ ปราบจลาจลเกือบ ๒๐๐ นาย พร้อมอาวุธครบมือ บังคับนำเธอกลับเข้าเมือง สองสัปดาห์ต่อมา ซูจี วางแผน ที่จะเดินทางออกจากเมืองร่างกุ้งอีกครั้งหนึ่ง เธอพร้อมคณะ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเดินทางไป ที่สถานีรถไฟ เพื่อซื้อตั๋วโดยสาร แต่รัฐบาลเผด็จการทหารได้ส่งหน่วย รักษาความปลอดภัยพิเศษ ไปควบคุมตัวเธอกลับบ้านพัก พร้อมทั้งวางกำลัง เจ้าหน้าที่ควบคุมจุดต่าง ๆ บนถนนหน้าบ้านพักของนางซูจี ไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าพบปะ เยี่ยมเยียนเธอ
ซูจี ถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดอีกเป็น ครั้งที่สอง เป็นเวลา ๑๘ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓ และได้รับอิสรภาพ จากการกักบริเวณครั้งนี้เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๔ ขณะที่ผู้รักสันติภาพทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองวาระครบรอบหนึ่งร้อยปี ของรางวัลโนเบลสาขา สันติภาพ พร้อมกับฉลองวาระครบสิบปีที่ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ยังคงถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในประเทศพม่า ไม่มีโอกาสเดินทางไปร่วมพิธีเฉลิมฉลองรางวัลเกียรติยศแห่งชีวิตพร้อมกับผู้ได้รับรางวัลคนอื่น ๆ
ซูจีถูกสั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็น ครั้งที่ ๓ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ภายหลังเหตุการณ์ปะทะระหว่างมวลชนจัดตั้ง ของรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุน ซูจีเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ระหว่างที่นางซูจีเดินทางเพื่อพบปะกับประชาชน ในเมืองเดพายิน (Depayin) ทางตอนเหนือของพม่า
วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๘ ถึงวาระครบรอบวันเกิด ๖๐ ปีของอองซาน ซูจี เธอยังคงถูกกัก บริเวณไว้ในบ้านพัก ริมทะเลสาบอินยา บนถนนมหาวิทยาลัย ที่พำนักที่เป็นสัญลักษณ์ของชาวพม่า นับตั้งแต่การต่อสู้เพื่อเอกราชของนายพลอองซาน และการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย ของเธอในวันนี้ ณ วันนี้ ไม่อาจมีผู้ใดทราบได้ว่าเธอใช้ชีวิตเช่นไรภายใต้อิสรภาพที่ถูกจำกัด แต่ระยะเวลา ๑๗ ปีที่ผ่านมา ที่ซูจีตัดสินใจแลกอิสรภาพกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และสันติภาพของการอยู่ร่วมกันของผู้คน ในประเทศพม่านั้น ยืนยันถึงความเชื่อและถ้อยคำ ที่เธอเคยสื่อสารผ่านมาใน จดหมายจากพม่า ที่เธอเขียนว่า
“กำแพงคุกส่งผลสะเทือนต่อผู้ที่อยู่ภายนอกเช่นกัน” ซูจีเขียนไว้ในหนังสือ จดหมายจากพม่าว่า

“ดิฉันมิได้เป็นนักโทษการเมืองสตรีเพียงคนเดียวในประเทศพม่า ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงมีสตรี จำนวนมาก ที่ถูกจำขัง เนื่องจากความเชื่อทางการเมืองของพวกเธอ สตรีบางท่านมีลูกเล็ก ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อ ผู้ซึ่งมัวแต่ห่วงกังวล กับภรรยาของตัวเอง และไม่คุ้นเคย กับการทำงานบ้านเอาเสียเลย เด็กส่วนมากยกเว้นผู้ที่ยังไม่โตพอจะรู้ความ มักจะเป็นทุกข์ กับความกดดันในระดับต่าง ๆ กัน”
หลายครั้งที่ถูกถามถึงความสัมพันธ์ของเธอและครอบครัว ซึ่งอยู่ห่างกันคนละซีกโลกนั้น ซูจีพูดถึงลูก ๆ ของเธอว่า
“แน่นอน ลูกของดิฉันต้องเผชิญชีวิตโดยไม่มีแม่อยู่เคียงข้าง แต่เพราะพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศ อังกฤษ ดิฉันจึงไม่ต้องกังวล”
(ซูจีให้สัมภาษณ์ Michele Manceaux นิตยสาร Marie Claire-Singapore Edition เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙)
ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นมา รัฐบาลเผด็จการทหารไม่อนุญาตให้สามี และบุตรชาย ทั้งสองของซูจีเข้าประเทศพม่า ช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ไมเคิลป่วยหนัก และรู้ตัวว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน เขายื่นขอวีซ่าเพื่อมาเยี่ยมภรรยาที่พม่าเป็นครั้งสุดท้าย แต่ถูกปฏิเสธ เพราะรัฐบาลเผด็จการทหาร ต้องการกดดันให้ซูจีออกนอกประเทศ ซูจีปฏิเสธข้อเสนอทุกอย่างของรัฐบาลเผด็จการที่พยายามโน้มน้าว ให้เธอเป็นฝ่ายเดินทาง ไปเยี่ยมสามีที่กรุงลอนดอน ท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่าย ที่มีทัศนะ ด้านลบต่อบทบาทของเธอในฐานะแม่และเมีย ไมเคิลสิ้นใจในวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ พร้อมกับความทรงจำครั้งสุดท้ายที่เขาได้พบภรรยาเมื่อช่วงคริสต์มาสของปี พ.ศ. ๒๕๓๘
ไมเคิล บันทึกความทรงจำแห่งช่วงวันที่เปี่ยมสุขระหว่างเขาและภรรยาไว้ในคำนำหนังสือ อิสรภาพจากความกลัว (Freedom from Fear) ที่ซูจีเป็นผู้เขียนว่า
“วันเวลาที่เราได้อยู่ร่วมกันตามลำพังครั้งสุดท้าย ปลีกตัวจากโลกโดยสิ้นเชิงนั้น คือ ความทรงจำที่เป็นสุข ที่สุดของผม ในระหว่างหลายปีของชีวิตแต่งงานของเรา มันเป็นช่วงเวลาที่สงบอย่างน่าอัศจรรย์ ซูตั้งกฎเกณฑ์ ที่เข้มงวดสำหรับกิจกรรม การเรียน และเล่นเปียโนของเธอ ซึ่งผมมักจะขัดจังหวะเธออยู่เสมอ เธอกำลังศึกษาพุทธธรรมต่าง ๆ
ผมประดิษฐ์ของขวัญคริสต์มาสในแต่ละวันเพื่อนำมาแจกจ่าย เราใช้เวลาทั้งหมดในช่วงนี้ สนทนากันเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ มากมาย ผมไม่ได้คาดคิดเลยว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะได้อยู่ร่วมกันสำหรับ อนาคตที่มองเห็นอยู่เบื้องหน้า”
ไมเคิลบอกเพื่อนๆ ของเขาเสมอว่า ขณะที่การต่อสู้ของซูจีเป็นที่รับรู้และชื่นชมของคนทั่วโลก เขาคือคนที่รัก และเข้าใจเธอมากที่สุด เขาเขียนไว้ในคำนำหนังสือ อิสรภาพจากความกลัวว่า
“เมื่อไม่นานนี้ ผมกลับมาอ่านจดหมาย ๑๘๗ ฉบับที่เธอส่งจากนิวยอร์กมาถึงผมที่ภูฏานในช่วง ๘ เดือน ก่อน ที่เราจะแต่งงานกันที่ลอนดอนในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๕...
เธอเฝ้าเตือนผมว่า วันหนึ่งเธอจะต้องกลับไปพม่า ซึ่งเธอต้องการการสนับสนุนของผม ในเวลานั้น เธอไม่ได้ต่อรองแต่เป็นการขอร้อง...”
ขณะที่ซูจีพูดถึงความสัมพันธ์ของเธอกับสามีว่า
"เราไม่เคยก้าวล่วงความเชื่อและสิ่งที่เป็นความสำคัญของแต่ละฝ่าย ตัวอย่างเช่น สามีของดิฉัน เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับตะวันออกและทิเบต ดิฉันไม่เคยพยายามหยุดยั้งเขาจากการทำในสิ่งที่เป็นความสนใจของเขา แม้ว่าบางครั้งดิฉันเหนื่อยล้าเหลือเกินกับการติดตามเขาไปรอบ ๆ หิมาลัย ดิฉันช่วยเขาทำในสิ่งที่สามารถทำได้ และดิฉันคิดว่าเขามีทัศนคติเช่นเดียวกับดิฉัน”
(ซูจีให้สัมภาษณ์ Michele Manceaux นิตยสาร Marie Claire-Singapore Edition เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
เมื่อถูกถามถึงทางเลือกของผู้หญิงระหว่างชีวิตที่อุทิศเพื่อสาธารณะ กับชีวิตส่วนตัวกับครอบครัว ซูจีตอบว่า
“ดิฉันคิดว่า ประเพณีมีกำหนดกฎเกณฑ์ไว้เสมอสำหรับบทบาทของหญิงชาย ที่กำหนดให้ผู้ชายมีเสรีภาพมากกว่า ในการทำงานเพื่อสาธารณชน และผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำทั้งสองหน้าที่ ในกรณีของดิฉัน เนื่องเพราะว่าดิฉัน มีชีวิตอยู่ห่างไกลจากครอบครัว ดังนั้นดิฉันจึงไม่มีชีวิตส่วนตัว”




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น